Wednesday, October 3, 2007

ใครว่าโลกแบน?

ในบรรดาปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เป็นวิวาทะระดับโลกและส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนทุกระดับชั้น คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่เรียกรวมๆ ว่า ‘โลกาภิวัตน์’ นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกหมุนเร็วยุคศตวรรษที่ 21

ใน สายตาของผู้ชื่นชม โดยเฉพาะชนชั้นกลางผู้หลงใหลในเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ชีวิตประจำวันไปแล้ว โลกาภิวัตน์เป็นพลังวิเศษที่กำลังเชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน ทำให้โลก ‘แบนลง’ อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ดังคำกล่าวของ ธอมัส ฟรีดแมน (Thomas Friedman) ผู้เขียนหนังสือขายดีเรื่อง “The World Is Flat: A Brief History of the Twenty-first Century” (โลกแบน: ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของศตวรรษที่ 21)

แต่ในสายตาของผู้สังเกต การณ์จำนวนมาก โลกาภิวัตน์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศต่างๆ ถ่างตัวมากขึ้นกว่าเดิม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมขยายวงกว้างเป็นปัญหาระดับโลก และบริษัทยักษ์ใหญ่ใช้อำนาจทุนและอิทธิพลทางการเมืองระรานอธิปไตยของประเทศ กำลังพัฒนา โดยใช้ ‘การค้าเสรี’ เป็นข้ออ้างบังหน้า

ผู้ ต่อต้านโลกาภิวัตน์หลายคนถึงกับมองว่า โลกาภิวัตน์เป็น ‘ตัวการ’ ที่ทำให้โลกเราแย่ลง ทั้งๆ ที่โลกาภิวัตน์เป็น ‘เหตุการณ์อุบัติเอง’ คล้ายกับระบบตลาด ที่เกิดจากการกระทำของคนจำนวนมาก แต่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งควบคุมหรือชักใยอยู่เบื้องหลัง

ใน “The World Is Round” (โลกกลม) บทวิจารณ์หนังสือเรื่อง The World Is Flat จอห์น เกรย์ (John Gray) ได้วิพากษ์วิจารณ์ความตื้นเขินของแนวคิดที่มองโลกาภิวัตน์ในแง่ดีด้านเดียว ไว้อย่างคมคายน่าคิดดังต่อไปนี้ (อ่านบทวิจารณ์ฉบับเต็มได้ในภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้):

“…[ฟรีดแมนมองไม่เห็นว่า] ในหลายๆ มิติ รวมทั้งมิติที่สังเกตได้ไม่ยาก โลกเรากำลังแบนน้อยลงเรื่อยๆ แม้ว่าฟรีดแมนจะยอมรับในการดำรงอยู่ของโลกที่ “ไม่แบน” นั่นคือ โลกที่ประกอบด้วยคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ เขากลับไม่เคยเชื่อมโยงการเติบโตของโลกใต้ดินของผู้ยากไร้ใบนี้ เข้ากับความก้าวหน้าของโลกาภิวัตน์ ความล้มเหลวข้อนี้ของฟรีดแมนดูน่าหัวเราะในบางครั้ง เช่น ตอนที่ฟรีดแมนเล่าถึงประสบการณ์ของเขาที่ไปเยือนสำนักงานใหญ่ของบริษัท อินโฟซิส (Infosys) ในกรุงบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย:

“ทางไป บริษัทอินโฟซิสคือถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ที่มีวัวศักดิ์สิทธิ์ รถลากพลังม้า และรถลากพลังคนแออัดเบียดเสียดอยู่ข้างๆ รถตู้ของเรา แต่เมื่อคุณผ่านประตูหน้าของอินโฟซิสเข้าไป คุณจะเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง สระว่ายน้ำขนาดใหญ่เท่าในรีสอร์ทอยู่ท่ามกลางหินประดับ และสนามหญ้าเรียบกริบ ข้างๆ กรีนพัทกอล์ฟ ในบริเวณเดียวกันมีร้านอาหารหลายร้าน และคลับสุขภาพชั้นเลิศ”

ฟรี ดแมนระบุข้อสังเกตว่าบริษัทอินโฟซิสผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่เขาไม่ตั้งคำถามว่าบริษัทมีเหตุจำเป็นอันใดที่ทำแบบนี้ และก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องความแตกต่างของระดับชีวิตความเป็นอยู่ใน ภูมิภาค ที่ข้อสังเกตนั้นเป็นสัญลักษณ์ ทั้งๆ ที่การแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศจากชุมชนท้องถิ่น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อินโฟซิสสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมี ประสิทธิภาพ อินโฟซิสเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า โลกาภิวัตน์ไม่ช่วยลดระดับความไม่เท่าเทียมกัน (inequalities) ในตลาดโลก ความสำเร็จของบริษัทเกิดจากอภิสิทธิ์ในการใช้บริการ และสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ชุมชนเพื่อนบ้านของเขาขาดแคลน”

ในความเห็นของผู้เขียน อันตรายของโลกาภิวัตน์อยู่ในแนวโน้มที่บริษัทยักษ์ใหญ่และรัฐบาลที่ถูก อำนาจทุนครอบงำ จะใช้มันเป็นเครื่องมือในสร้างความมั่งคั่งและปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ในทางที่ลิดรอนประโยชน์ส่วนรวมลงไปเรื่อยๆ

แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ทำให้กระแสโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น คือความจริงที่ว่ามันสามารถมอบ ‘พลัง’ ให้ประชาชนคนธรรมดาๆ ทั่วโลก ให้สามารถรวมพลังกันผ่าน ‘โลกเสมือน’ ในอินเทอร์เน็ต เป็น ‘มหาอำนาจแห่งที่สอง’ ที่สามารถกดดันผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในโลกแห่งความจริงได้ และทำให้วัฒนธรรมอันหลากหลายได้มาปะทะสังสรรค์กันในทางที่มีพลวัตมากกว่าใน อดีต และการปะทะสังสรรค์กันนั้นเองก็จะช่วยทลายกำแพงอคติทั้งมวล ที่มีรากมาจากความไม่รู้

องค์ความรู้ไร้พรมแดนที่เกิดขึ้นได้ เพราะโลกาภิวัตน์ ทำให้เราตระหนักว่ามนุษย์เราแตกต่างกันเพียงใด แต่มันก็ทำให้เรารู้ด้วยว่า ความทุกข์ยากและความเดือดร้อนของเรานั้นมีส่วนคล้ายกันเพียงใด

‘ระเบียบ โลกใหม่’ ที่ใครต่อใครถวิลหา อาจเกิดขึ้นจริงในอนาคตจากพลังของประชาชนคนธรรมดาทั่วโลก ผู้กำลังล่องคลื่นโลกาภิวัตน์อย่างแข็งแกร่ง ยืนหยัดต่อรองกับพลังของอำนาจรัฐและอำนาจทุนอย่างไม่ย่อท้อ ด้วยเครื่องมือชนิดเดียวกันกับที่พวกเขาใช้

ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณบุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ผู้เปิดพื้นที่ให้กับคอลัมน์ “ล่องคลื่นโลกาภิวัตน์” ในหน้าหนังสือพิมพ์ อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ และกอง บ.ก. โอเพ่นออนไลน์ทุกท่าน คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ openbooks และคุณวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ซึ่งได้ช่วยตรวจทานและแก้ไขปรับปรุงต้นฉบับอย่างละเอียด หากเนื้อหายังมีที่ผิดประการใด ย่อมเป็นความผิดของผู้เขียนเอง ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้

หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยให้ผู้อ่านทุกท่านล่องคลื่นโลกาภิวัตน์อย่างรู้เท่าทันมากขึ้น มีอาการเมาเรือน้อยลงกว่าเดิม และสะกิดใจให้พวกเราทุกคนช่วยกันคิดหาหนทางที่เรือลำเล็กชื่อประเทศไทย จะสามารถล่องกระแสอันเชี่ยวกรากนี้ได้อย่างยั่งยืน และไม่ทอดทิ้งผู้ยากไร้ทั้งหลาย ผู้ไม่มีวันเข้าถึงประโยชน์ของโลกาภิวัตน์โดยลำพังได้ ไว้กลางทะเลลึก.

ที่มา: onopen

1 comment:

Big Bote said...

เป็นหนังสือที่ดีมากนะ อ่านแล้วรู้สึกได้ถึง พลังการเปลี่ยนแปลงของโลคยุคนี้จริงๆ ทุกอย่างแตกต่างจากยุคก่อนสิ้นเชิง เราต้องปรับตัวให้ได้ในโลกแบนๆ ใบนี้

ชาวลองกองก็เหมือนกัน...