Monday, October 22, 2007

นับถอยหลัง 3 วัน

อีกเพียง 3 วันก็ถึงวันสัมมนาแล้ว

ได้รับเนื้อหาจากทาง ดร.กองกูล มาแล้ว
โชคดีที่ วิทยากรเข้าใจ ไม่เตรียมเนื้อหาแบบเอาใจพวกเรา
แต่หวังให้คนที่เข้าร่วมได้รับประโยชน์มากกว่า

พวกเราชาวลองกองก็หวังเช่นนั้นเหมือนกัน
เพราะพวกเราหวังจะได้ เรียนรู้จาก วิทยากร
และหวังจะได้ข้อมูลจากผู้ร่วมฟัง

เพื่อที่เราจะปรับปรุงโปรแกรม ให้มีประโยชน์
ตอบสนองต่อลูกค้ามากที่สุด

พวกเราตื่นเต้นกันมากครับ

Wednesday, October 17, 2007

เตรียมงานสัมมนา

ชาวลองกองกำลังง่วนกับการเตรียมงานสัมมนา ให้ความรู้แก่ผู้รับเหมา เรื่องเกี่ยวกับการควบคุมต้นทุน
นี่เป็นการจัดสัมมนาครั้งแรกของเราเลย ตอนแรกก็กลัวจะไม่มีคนมาฟัง
แต่ถึงวันนี้มีคนลงทะเบียนกว่า 100 คนแล้ว...ค่อยโล่งอกหน่อย

กลายมาเป็นความกดดันแทน เพราะผู้เข้าร่วมงานคงมีความคาดหวังต่างๆ กันไป
ทางเราก็หวังว่าจะตอบในสิ่งที่เค้าคาดหวังได้บ้าง อาจจะไม่ทั้งหมด
แต่คงทำให้เกิดไอเดียไปประยุกต์ใช้กันต่อได้บ้าง

การเตรียมความพร้อมทั่วไปคงเกือบๆ 70% แล้ว
นับถอยหลังอีก 8 วัน


ป.ล. ในงานนี้เราจะได้เปิดตัว GigaSite อย่างเป็นทางการด้วย
หลังจากโดนโรคเลื่อนมาเดือนกว่าๆ... สไตล์บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่เค้าหล่ะ...

Tuesday, October 9, 2007

ลองกอง สตูดิโอ ได้รับรางวัลในงาน TICA Night 2007


เฮ้ พวกเรา ลองกอง ได้รางวัล รองชนะเลิศ หมวด Start-up Bussiness จากงาน Thailand ICT Award 2007 มาวันนี้(9/10/2550)
งานนี้มีทั้งหมด 15 หมวด บริษัทที่เข้ารอบ 2 มีประมาณ 4 บริษัท ต่อ 1 กลุ่ม นะครับ แต่ละกลุ่มก็มี รางวัลชนะเลิศ กับ รองชนะเลิศ 2 รางวัล
สำหรับที่เราได้รองชนะเลิศนั้นเนี่ย กลุ่มเรา มีบริษัทได้รางวัลรองชนะเลิศ 2 บริษัท คือ เรากับ Decision Solution (EXR Visualize สุดหรู) แต่ที่สำคัญไม่มีคนได้รางวัลชนะเลิศครับ แปลว่าในอีกมุมเราก็ได้อันดับ 1 คู่นั่นเอง
เรื่องนี้ก็เกิดความคาดหมายอยู่นิดนึงนะครับพี่น้อง เพราะได้คุยกับกรรมการที่ตัดสินคนนึงเขาบอกกว่าคณะตัดสินนี้โหดมาก เขาไปเน้นมองที่ความน่าลงทุนของธุรกิจซะมากกว่า Product ซึ่งในการนำเสนอเราเองก็ไม่ได้เน้นจุดนั้นด้วยซ้ำไป(ใครจะไปรู้ว่างาน ICT จะต้อง Present ความน่าลงทุนเป็นหลักด้วย)

Wednesday, October 3, 2007

ใครว่าโลกแบน?

ในบรรดาปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เป็นวิวาทะระดับโลกและส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนทุกระดับชั้น คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่เรียกรวมๆ ว่า ‘โลกาภิวัตน์’ นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกหมุนเร็วยุคศตวรรษที่ 21

ใน สายตาของผู้ชื่นชม โดยเฉพาะชนชั้นกลางผู้หลงใหลในเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ชีวิตประจำวันไปแล้ว โลกาภิวัตน์เป็นพลังวิเศษที่กำลังเชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน ทำให้โลก ‘แบนลง’ อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ดังคำกล่าวของ ธอมัส ฟรีดแมน (Thomas Friedman) ผู้เขียนหนังสือขายดีเรื่อง “The World Is Flat: A Brief History of the Twenty-first Century” (โลกแบน: ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของศตวรรษที่ 21)

แต่ในสายตาของผู้สังเกต การณ์จำนวนมาก โลกาภิวัตน์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศต่างๆ ถ่างตัวมากขึ้นกว่าเดิม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมขยายวงกว้างเป็นปัญหาระดับโลก และบริษัทยักษ์ใหญ่ใช้อำนาจทุนและอิทธิพลทางการเมืองระรานอธิปไตยของประเทศ กำลังพัฒนา โดยใช้ ‘การค้าเสรี’ เป็นข้ออ้างบังหน้า

ผู้ ต่อต้านโลกาภิวัตน์หลายคนถึงกับมองว่า โลกาภิวัตน์เป็น ‘ตัวการ’ ที่ทำให้โลกเราแย่ลง ทั้งๆ ที่โลกาภิวัตน์เป็น ‘เหตุการณ์อุบัติเอง’ คล้ายกับระบบตลาด ที่เกิดจากการกระทำของคนจำนวนมาก แต่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งควบคุมหรือชักใยอยู่เบื้องหลัง

ใน “The World Is Round” (โลกกลม) บทวิจารณ์หนังสือเรื่อง The World Is Flat จอห์น เกรย์ (John Gray) ได้วิพากษ์วิจารณ์ความตื้นเขินของแนวคิดที่มองโลกาภิวัตน์ในแง่ดีด้านเดียว ไว้อย่างคมคายน่าคิดดังต่อไปนี้ (อ่านบทวิจารณ์ฉบับเต็มได้ในภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้):

“…[ฟรีดแมนมองไม่เห็นว่า] ในหลายๆ มิติ รวมทั้งมิติที่สังเกตได้ไม่ยาก โลกเรากำลังแบนน้อยลงเรื่อยๆ แม้ว่าฟรีดแมนจะยอมรับในการดำรงอยู่ของโลกที่ “ไม่แบน” นั่นคือ โลกที่ประกอบด้วยคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ เขากลับไม่เคยเชื่อมโยงการเติบโตของโลกใต้ดินของผู้ยากไร้ใบนี้ เข้ากับความก้าวหน้าของโลกาภิวัตน์ ความล้มเหลวข้อนี้ของฟรีดแมนดูน่าหัวเราะในบางครั้ง เช่น ตอนที่ฟรีดแมนเล่าถึงประสบการณ์ของเขาที่ไปเยือนสำนักงานใหญ่ของบริษัท อินโฟซิส (Infosys) ในกรุงบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย:

“ทางไป บริษัทอินโฟซิสคือถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ที่มีวัวศักดิ์สิทธิ์ รถลากพลังม้า และรถลากพลังคนแออัดเบียดเสียดอยู่ข้างๆ รถตู้ของเรา แต่เมื่อคุณผ่านประตูหน้าของอินโฟซิสเข้าไป คุณจะเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง สระว่ายน้ำขนาดใหญ่เท่าในรีสอร์ทอยู่ท่ามกลางหินประดับ และสนามหญ้าเรียบกริบ ข้างๆ กรีนพัทกอล์ฟ ในบริเวณเดียวกันมีร้านอาหารหลายร้าน และคลับสุขภาพชั้นเลิศ”

ฟรี ดแมนระบุข้อสังเกตว่าบริษัทอินโฟซิสผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่เขาไม่ตั้งคำถามว่าบริษัทมีเหตุจำเป็นอันใดที่ทำแบบนี้ และก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องความแตกต่างของระดับชีวิตความเป็นอยู่ใน ภูมิภาค ที่ข้อสังเกตนั้นเป็นสัญลักษณ์ ทั้งๆ ที่การแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศจากชุมชนท้องถิ่น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อินโฟซิสสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมี ประสิทธิภาพ อินโฟซิสเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า โลกาภิวัตน์ไม่ช่วยลดระดับความไม่เท่าเทียมกัน (inequalities) ในตลาดโลก ความสำเร็จของบริษัทเกิดจากอภิสิทธิ์ในการใช้บริการ และสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ชุมชนเพื่อนบ้านของเขาขาดแคลน”

ในความเห็นของผู้เขียน อันตรายของโลกาภิวัตน์อยู่ในแนวโน้มที่บริษัทยักษ์ใหญ่และรัฐบาลที่ถูก อำนาจทุนครอบงำ จะใช้มันเป็นเครื่องมือในสร้างความมั่งคั่งและปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ในทางที่ลิดรอนประโยชน์ส่วนรวมลงไปเรื่อยๆ

แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ทำให้กระแสโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น คือความจริงที่ว่ามันสามารถมอบ ‘พลัง’ ให้ประชาชนคนธรรมดาๆ ทั่วโลก ให้สามารถรวมพลังกันผ่าน ‘โลกเสมือน’ ในอินเทอร์เน็ต เป็น ‘มหาอำนาจแห่งที่สอง’ ที่สามารถกดดันผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในโลกแห่งความจริงได้ และทำให้วัฒนธรรมอันหลากหลายได้มาปะทะสังสรรค์กันในทางที่มีพลวัตมากกว่าใน อดีต และการปะทะสังสรรค์กันนั้นเองก็จะช่วยทลายกำแพงอคติทั้งมวล ที่มีรากมาจากความไม่รู้

องค์ความรู้ไร้พรมแดนที่เกิดขึ้นได้ เพราะโลกาภิวัตน์ ทำให้เราตระหนักว่ามนุษย์เราแตกต่างกันเพียงใด แต่มันก็ทำให้เรารู้ด้วยว่า ความทุกข์ยากและความเดือดร้อนของเรานั้นมีส่วนคล้ายกันเพียงใด

‘ระเบียบ โลกใหม่’ ที่ใครต่อใครถวิลหา อาจเกิดขึ้นจริงในอนาคตจากพลังของประชาชนคนธรรมดาทั่วโลก ผู้กำลังล่องคลื่นโลกาภิวัตน์อย่างแข็งแกร่ง ยืนหยัดต่อรองกับพลังของอำนาจรัฐและอำนาจทุนอย่างไม่ย่อท้อ ด้วยเครื่องมือชนิดเดียวกันกับที่พวกเขาใช้

ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณบุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ผู้เปิดพื้นที่ให้กับคอลัมน์ “ล่องคลื่นโลกาภิวัตน์” ในหน้าหนังสือพิมพ์ อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ และกอง บ.ก. โอเพ่นออนไลน์ทุกท่าน คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ openbooks และคุณวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ซึ่งได้ช่วยตรวจทานและแก้ไขปรับปรุงต้นฉบับอย่างละเอียด หากเนื้อหายังมีที่ผิดประการใด ย่อมเป็นความผิดของผู้เขียนเอง ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้

หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยให้ผู้อ่านทุกท่านล่องคลื่นโลกาภิวัตน์อย่างรู้เท่าทันมากขึ้น มีอาการเมาเรือน้อยลงกว่าเดิม และสะกิดใจให้พวกเราทุกคนช่วยกันคิดหาหนทางที่เรือลำเล็กชื่อประเทศไทย จะสามารถล่องกระแสอันเชี่ยวกรากนี้ได้อย่างยั่งยืน และไม่ทอดทิ้งผู้ยากไร้ทั้งหลาย ผู้ไม่มีวันเข้าถึงประโยชน์ของโลกาภิวัตน์โดยลำพังได้ ไว้กลางทะเลลึก.

ที่มา: onopen